วงการกีฬาสนุกเกอร์ ในประเทศไทย
วงการกีฬาสนุกเกอร์ เป็นกีฬาที่เชื่อว่ามีการเริ่มเล่นกันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 โดยมีต้นกำเนิดย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 16 ในรูปแบบของ อิงลิช บิลเลียด (English Billiards) เป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันในกองทัพอังกฤษที่ประจำอยู่ในประเทศอินเดีย แต่เนื่องจากกีฬาบิลเลียดเป็นกีฬาที่เล่นกันสำหรับสองคน จึงได้มีการคิดค้นกีฬาพูล (Life Pool และ Pyramid Pool) ขึ้นมาเพื่อจะได้เพิ่มจำนวนผู้เล่นมากขึ้น และนำมาประยุกต์กลายเป็นกีฬาสนุกเกอร์ไปในที่สุด

กีฬาสนุกเกอร์
เป็นกีฬาที่คนไทยนิยมเล่นกันมาช้านาน และจากการที่เป็นกีฬาที่ชี้ผลแพ้-ชนะได้ จึงมีการเล่นพนันขันต่อ และจากเหตุที่มีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทยโดยกรมตำรวจจึงจัดเอาบิลเลียด-สนุกเกอร์ไว้ในพระราชบัญญัติการพนันประเภท ข. ตั้งแต่ปี 2478 และเป็นกฏหมายที่ใช้ควบคุมมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการจัดการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ที่สมาคมพ่อค้าไทย มีวิเชียร แสงทอง หรือ เซียน กิ๊ด นครสวรรค์เป็นแชมป์ประเทศไทย จนถึงปี พ.ศ. 2513 จากนั้นสนุกเกอร์ก็เงียบหายไปจนถึงปี พ.ศ. 2525 โดยชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานจนถือว่าประเทศไทยเป็นบ้านที่สอง ชื่อ นายมอริส เคอร์ อดีตกรรมการบริหารราชกรีฑาสโมสร ได้รื้อฟื้นให้มีการจัดการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยขึ้นอีกครั้ง ภายในบริเวณราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) การแข่งขันในปีแรก มีผู้ลงสมัครแข่งขันไม่ถึง 20 คน ปรากฏว่า มีเซียนรุ่นเก่าหันมาสวมเวสต์ เสื้อแขนยาวลงแข่งขันแบบ 15 ลูก ซึ่งกว่าจะผ่านไปได้ในปีแรกก็ยุ่งยากพอสมควร เนื่องจากนักกีฬาไม่คุ้นต่อกฏกติกานั่นเอง
และในปี พ.ศ. 2525 นั้นเอง สมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทยก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้น โดยนายมอริส เคอร์ มีคณะกรรมการบริหารรุ่นบุกเบิกเพียง 7 คน ประกอบด้วย นายมอริส เคอร์ นายโอภาส เลิศพฤกษ์ นายสินธุ พูนศิริวงศ์ นายสุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ นายศักดา รัตนสุบรรณ พล.ต.ต.ณรงค์ เหรียญทอง และนายเถกิง สวาสดิพันธุ์
หลังจากที่สมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทยได้มีการก่อตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการแล้ว สมาคมฯได้มีความพยายามในการสร้างนักกีฬาขึ้นมาเป็นตัวแทนประเทศ จนกระทั่งได้เพชรเม็ดงามคือ นายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ซึ่งทำให้ชาวโลกรู้จักประเทศไทยดีขึ้น เพราะต๋องสามารถครองแชมป์เอเซียได้ถึง 2 ครั้งในสมัยนั้น
โดยครั้งแรกทำได้เมื่ออายุเพียง 14 ปี และยังสามารถคว้าแชมป์สมัครเล่นโลก ในปี พ.ศ. 2531 โดยเอาชนะ แบรี่ พินช์เชส นักกีฬาต้นตำรับและแชมป์สมัครเล่นจากอังกฤษก่อนจะก้าวขึ้นสู่การเป็นอันดับสามของโลก โดยเป็นรองเพียงสตีเฟ่น เฮนดรี้ และ สตีฟ เดวิส เท่านั้น

หลังจากที่ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย คว้าแชมป์สมัครเล่นโลกคนแรกได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ในปี พ.ศ. 2534 ประเทศไทยก็ได้แชมป์สมัครเล่นโลกคนที่สอง โดยนพดล นภจร หรือ หนู ดาวดีงส์ สามารถเอาชนะ โดนินิค เดล คู่แข่งจากเวลส์ได้ ที่โรงแรมแม่น้ำ กรุงเทพฯ ท่ามกลางผู้ชมทั้งในห้องแข่งขัน และที่ติดตามชมการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ
สองปีต่อมา ประเทศไทยก็แสดงผลงานสู่วงการสนุกเกอร์โลกอีกครั้ง เมื่อชูชาติ ไตรรัตนประดิษฐ์ หรือ ต่าย พิจิตร เข้าชิงชนะเลิศกันเองกับ ประพฤติ ชัยธนสกุล หรือ รมย์ สุรินทร์ ในการชิงแชมป์สมัครเล่นโลกที่การาจี ประเทศปากีสถาน และเอาชนะไปได้ 11 – 6 เฟรม คว้าแชมป์โลกคนที่สามให้ประเทศไทยไปได้สำเร็จ
ผลงานในเวทีโลกของนักสนุกเกอร์ไทย ยังไม่จบลงเพียงแค่นั้น นักกีฬาไทยยังมีผลงานคว้าแชมป์เอเซีย และแชมป์โลกสมัครเล่นได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแชมป์โลกแล้วในเวลานี้ถึง 7 คน ไม่ว่าจะเป็น ศักดิ์ชัย ซิมงาม ในปี พ.ศ. 2538, อรรถสิทธิ์ มหิทธิ ในปี พ.ศ. 2550 โดยชิงชนะเลิศกันเองกับ ภาสกร สุวรรณวัฒน์, เทพไชยา อุ่นหนู ในปี พ.ศ. 2551 และ เดชาวัต พุ่มแจ้ง ในปี พ.ศ. 2554
ในสายเยาวชน นักกีฬาไทยก็สามารถคว้าแชมป์เยาวชนโลกได้ถึง 2 ครั้ง โดย นพพล แสงคำ ทำได้เป็นคนแรกในปี พ.ศ. 2552 ที่ประเทศอิหร่าน และในปี 2554 ก็สามารถเข้าชิงชนะเลศได้อีกครั้ง แต่ไปแพ้นักกีฬาไทย เพื่อนร่วมชาติ ธนวัฒน์ ถิรพงศ์ไพบูลย์ ในรอบชิงชนะเลิศที่แคนาดา ทำให้ธนวัฒน์ ถิรพงศ์ไพบูลย์ได้เป็นแชมป์เยาวชนโลกของไทยคนที่สอง ได้รับสิทธิ์เข้าไปแข่งขันสนุกเกอร์อาชีพที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 2 ปีตั้งแต่ฤดูกาลนี้เป็นต้นไป

ในปีพ.ศ. 2550 สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ได้มีการนำกีฬาสนุกเกอร์ 6 แดงบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่ จ.นครราชสีมาเป็นครั้งแรก และทำให้กีฬาสนุกเกอร์ 6 แดง แพร่กระจายไปสู่ความนิยมทั้งในเอเซีย และทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ได้มีการจัดการแข่งขัน แสงโสม 6 แดง อินเตอร์เนชั่นแนล ขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยเชิญนักกีฬาอาชีพของสนุกเกอร์โลกมาร่วมแข่งขัน พร้อมกับนักสนุกเกอร์ต่าง ๆ จากทั่วโลกขึ้นเป็นครั้งแรก และได้มีการจัดการแข่งขันในปีต่อ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
โดยว่างเว้นไปเพียงปีเดียว ในปี 2554 ที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกประเภททีม ในรายการ World Cup แทน ทำให้กีฬาสนุกเกอร์ 6 แดง เป็นที่นิยมไปอย่างแพร่หลาย ได้มีการจัดการแข่งขัน 6 แดงชิงแชมป์เอเซีย ชิงแชมป์ภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเอาผู้ชนะมาแข่งขัน แสงโสม 6 แดงชิงแชมป์โลก ในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจมาร์เกตติ้ง จำกัด อย่างต่อเนื่องด้วย
สรุปแล้ว พัฒนาการของวงการสนุกเกอร์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องถือว่าประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหารของนายสินธุ พูนศิริวงศ์ และคณะกรรมการบริหารฯ ทุกท่านที่ร่วมแรง ร่วมกำลัง ร่วมความคิด ในการนำกีฬาบิลเลียดและนักกีฬาของไทยเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ความสำเร็จส่วนต่อไปที่ทางสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย กำลังพยายามผลักดันอยู่ในเวลานี้คือให้กีฬาสนุกเกอร์หลุดจากพระราชบัญญัติการพนัน ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ขัดต่อระบบการดำเนินการ การพัฒนาเยาวชน และไม่สอดคล้องกับที่การกีฬาแห่งประเทศไทยระบุไว้อย่างชัดเจนให้สนุกเกอร์และบิลเลียดเป็น 1 ใน 40 ชนิดกีฬาที่การกีฬาแห่งประเทศไทยให้การรับรอง
โดยออกเป็นพระราชบัญญัติไว้ในปี พ.ศ. 2538 และเป็น 1 ใน 12 กีฬาอาชีพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทยอีกด้วย ส่วนการที่กีฬาสนุกเกอร์จะเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปได้หรือไม่นั้น คงขึ้นอยู่กับผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องช่วยกันป้องกันและทำให้กีฬาเป็นที่ทุกฝ่ายยอมรับ และผู้ที่จะมีส่วนช่วยผลักดันในเรื่องนี้ ก็คือผู้บริหารสโมสรโต๊ะสนุกเกอร์ต่าง ๆ ผู้เล่น ตลอดจนผู้ฝึกสอน หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง เชื่อแน่ว่า สนุกเกอร์จะเป็นกีฬาที่ทุกฝ่ายยอมรับโดยทั่วกัน คราวนี้มาดู 10 อันดับ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020 ซึ่งจัดขึ้นที่ฮอลล์ 100 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมนานาชาติ ไบเทค บางนา เวทีประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ จัดการประกวดรอบตัดสิน “โควิด เอพพิโซด” เป็นเวทีประกวดนางงาม โดยเจ้าของคนไทย “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่ 8 แล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 เรื่องน่ารู้ของ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ตำนานสนุกเกอร์ของไทย